วิธีการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน อย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม?

Last updated: 28 พ.ค. 2564  |  36489 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีการจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้าน อย่างไรให้ถูกต้องและเหมาะสม?

เนื่องจากชาวไทยส่วนใหญ่นั้นมีนับถือศาสนาพุทธและมีกิจวัตรที่เกี่ยวโยงกับการไหว้พระสวดมนต์มาแต่ช้านาน สำหรับบางบ้านก็ได้มีการแยกพื้นที่สำหรับโต๊ะหมู่บูชาพระหรือห้องพระให้เป็นสัดเป็นส่วน เพื่อใช้สำหรับบูชาพระพุทธรูป สวดมนต์ นั่งสมาธิ การจัดโต๊ะหมู่บูชาพระนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวสำหรับบางครอบครัว 

 

บางครอบครัวที่มีความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ย และมีความเชื่อว่าการจัดให้ถูกต้องเหมาะสมจะช่วยเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตสำหรับผู้อยู่อาศัย และช่วยป้องกันภยันอันตราย ให้ปลอดภัยแคล้วคลาดจากเรื่องต่างๆ ได้ วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆ เกี่ยวกับ “การจัดโต๊ะหมู่บูชา” เพื่อเป็นเคล็ดลับในการเสริมสิริมงคลให้แก่ชีวิตและบ้านตามหลักที่ถือปฏิบัติกันมาให้ลองพิจารณากัน

 

องค์ประกอบและรูปแบบโต๊ะหมู่บูชาพระแบบต่างๆ

 

“การจัดโต๊ะหมู่บูชา” นั้นนิยมใช้วางโต๊ะไม้ขนาดเล็กที่มีความสูงลดหลั่นกันไปบนโต๊ะฐานใหญ่อีกที บนโต๊ะจะประกอบด้วยกระถางธูป 1 กระถาง เชิงเทียนอย่างน้อย 1 คู่ แจกันอย่างน้อย 1 คู่ และพานอย่างน้อย 1 พาน การจัดโต๊ะหมู่บูชาสามารถทำได้หลายแบบตามแต่พื้นที่จะเอื้ออำนวย โดยโต๊ะหมู่บูชาแบบต่างๆ จะมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

 

โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 3 (ประยุกต์)

 

รูปแบบแรก จะเป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดเล็กที่สุดแบบประยุกต์ ที่เหมาะสำหรับบ้านที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อยมาก เช่น ห้องคอนโด อาจจะมีลักษณะเป็นหิ้งพระติดกับผนังมากกว่าการตั้งโต๊ะบนพื้นก็ได้ การจัดวางจะประกอบด้วย

  • โต๊ะฐานหรือแท่นวางแบบติดผนัง 1 ตัว 

  • โต๊ะเล็ก 3 ตัวสำหรับวางกระถางธูป เชิงเทียน พานดอกไม้ แจกัน และพระพุทธรูป จัดวางให้สวยงาม

 

 

โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 4

 

รูปแบบที่สอง จะเป็นโต๊ะหมู่บูชาขนาดกะทัดรัดอีกแบบ และค่อนข้างเป็นที่นิยมเช่นกัน การจัดวางจะประกอบด้วย

  • โต๊ะฐาน 1 ตัว 

  • โต๊ะเล็ก 4 ตัว สำหรับวางกระถางธูป 1 กระถาง เชิงเทียน 1 คู่ พานดอกไม้ 2 พาน แจกัน 2 ใบ และพระพุทธรูป เนื่องจากมีพื้นที่เยอะกว่าโต๊ะหมู่บูชาแบบ 3 เล็กน้อย ทำให้มีพื้นที่วางมากขึ้น อาจเพิ่มพานดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่กว่า เพื่อความสวยงามองค์รวมของโต๊ะหมู่บูชา

 

 

โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 5

 

รูปแบบที่สาม จะเป็นโต๊ะหมู่บูชาที่มีขนาดกลาง และมีความเป็นพิธีรีตองมากยิ่งขึ้น โต๊ะที่เป็นโต๊ะฐานจะต้องมีความกว้างยาวมากขึ้นเพื่อรองรับ

  • โต๊ะฐาน 1 ตัว 

  • โต๊ะเล็ก 5 ตัว สำหรับวางกระถางธูป 1 กระถาง เชิงเทียน 4 คู่ พานดอกไม้ 5 พาน แจกัน 2 ใบ และพระพุทธรูป 

 

 

โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 7

 

รูปแบบที่สี่ จะเป็นโต๊ะที่มีขนาดใหญ่เหมาะสำหรับบ้านที่มีห้องพระเป็นสัดส่วน มีการจัดพิธีทำบุญบ่อยครั้ง โดยการจัดวางจะประกอบด้วย

  • โต๊ะฐาน 1 ตัว

  • โต๊ะเล็ก 7 ตัว นอกจากเหนือจากการวางกระถางธูป 1 กระถาง เชิงเทียน 5 คู่ พานดอกไม้ 5 พาน แจกัน 2 ใบแล้ว จะนิยมวางพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ ตามที่พื้นที่จะเอื้ออำนวย

 

 

โต๊ะหมู่บูชาหมู่ 9

 

รูปแบบที่ห้า จะเป็นโต๊ะที่มีขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วย

  • โต๊ะฐาน 1 ตัว 

  • โต๊ะเล็ก 9 ตัว นอกจากเหนือจากการวางกระถางธูป 1 กระถาง เชิงเทียน 6 คู่ พานดอกไม้ 7 พาน แจกัน 4 ใบ จะนิยมวางพระพุทธรูป พระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ ตามที่พื้นที่จะเอื้ออำนวย รวมทั้งสามารถวางอัฐิ หรือรูปบูชาของบรรพบุรุษด้วยได้


 

วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาพระในบ้านเพื่อเสริมสิริมงคล

 

  • ตำแหน่งของโต๊ะหมู่บูชาพระควรอยู่ทางทิศเหนือหรือตะวันออกของบ้านและหันหน้าออกหน้าบ้าน ไม่ควรอยู่ที่ตำแหน่งทิศตะวันตก

  • พระประทานควรเป็นพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดของเจ้าบ้าน หรือจะตั้งพระแก้วมรกต พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ เป็นพระประทาน และตั้งพระประจำวันเกิดเป็นลำดับรองลงมาก็ได้

  • หากเป็นไปได้ ไม่ควรวางโต๊ะหมู่บูชาพระหันไปตรงกับประตู

  • ห้ามหันปลายเตียงไปทางห้องพระ

  • ห้ามจัดห้องพระติดกับห้องน้ำ เพราะเชื่อว่าจะทำให้เงินทองรั่วไหลได้ หากจำเป็น ให้หาตู้สักใบมาพิงผนังห้องน้ำ และจัดโต๊ะหมู่บูชาพระให้หันหน้าไปทางทิศอื่น

  • ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระในตำแหน่งทิศมนตรีของเจ้าบ้าน เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีพลังเกื้อหนุนได้เต็มที่

  • ไม่ควรตั้งโต๊ะหมู่บูชาพระไปทางทิศกาลกิณีของเจ้าบ้าน เพราะเป็นทิศเสื่อมของเจ้าบ้าน

  • การจัดเครื่องสักการะบูชาจะต้องจัดอย่างสวยงาม มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และต้องดูแลเรื่องความสะอาดด้วย

 

วิธีเลือกพระประธานบนโต๊ะหมู่บูชาตามวันเกิด

 

พระประธาน คือ พระพุทธรูปที่ตั้งอยู่บนโต๊ะหมู่บูชาตรงกลาง พระพุทธรูป พระอรหันต์ พระอริยสงฆ์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือจะต้องจัดวางลดหลั่นจากพระประธานตามลำดับ และดังที่ได้เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่าหลักการเลือกพระประธานที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ก็คือการเลือกพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดของเจ้าของบ้าน ได้แก่

 

  • วันจันทร์ ปางห้ามญาติ หรือ ห้ามสมุทร

  • วันอังคาร ปางไสยาสน์

  • วันพุธ กลางวัน ปางอุ้มบาตร 

  • วันพุธ กลางคืน ปางปรินิพพาน

  • วันพฤหัสบดี ปางสมาธิ

  • วันศุกร์ ปางรำพึง

  • วันเสาร์ ปางนาคปรก

  • วันอาทิตย์ ปางถวายเนตร

 

เมื่อเรารู้วิธีจัดโต๊ะหมู่บูชาอย่างไร ให้ถูกต้องและเหมาะสม แล้วนั้นก็สามารถทำตามขั้นตอนดังกล่าวได้เลย เพื่อให้การจัดวางองค์รวมออกมาดูสวยงามเป็นระเบียบ ควรหาพื้นที่ในบ้านที่แยกออกมาอย่างเป็นสัดเป็นส่วน และควรเป็นมุมสงบของบ้านเพื่อที่จะสามารถนั่งสมาธิและสวดมนต์ได้อย่างสงบ

 

ท้ายสุดนี้ ถ้าคุณชื่นชอบเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ซึ่งเป็นไม้มงคลนาม เสริมสิริมงคลแก่บ้านและผู้อาศัย เหมาะจะนำมาประดับบ้าน และอยากเพิ่มโต๊ะหมู่บูชาไม้สัก ไม่ว่าจะสไตล์โมเดิร์นเรียบหรูหรือสไตล์วินเทจ อย่าลืมลองเยี่ยมชมแคทตาล็อคโต๊ะหมู่บูชาคุณภาพเยี่ยมจากเรา Taweesak Furniture นะคะ เราทำเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นอย่างใส่ใจ และรู้จริงเรื่องเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว นโยบายคุกกี้